การรณรงค์เลือกตั้ง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562

แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในปลายปี 2561 ไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง แต่พรรคที่ต่อต้านรัฐประหารยังเกรงว่าจะถูกจับกุม[59] กว่าจะเริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ล่วงเข้าต้นปี 2562 แล้ว[10]:59 สำหรับวิธีการหาเสียงพรรคการเมืองยังใช้วิธีเดิม เช่น การเยี่ยมบ้าน ป้ายประกาศริมถนน ขบวนรถติดลำโพง และการชุมนุมสาธารณะ ในพื้นที่ชนบทซึ่งมักจำกัดการรณรงค์ให้เหลือโฆษณาโทรทัศน์และสถานีวิทยุชุมชน มีการจำกัดตามกฎหมายให้ใช้เฉพาะช่องเวลาที่กำหนดให้เท่านั้น[10]:59–60 ข้อกำหนดตามกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อป้องกันสารสนเทศเท็จและการหมิ่นประมาททำให้หลายพรรคงดการรณรงค์หาเสียงบนสื่อสังคม แต่หลายพรรคหาเสียงบนสื่อสังคมอย่างกว้างขวาง[60] บรรยากาศการหาเสียงเป็นไปโดยสงบ ข้อกำหนดที่เข้มงวดของ กกต. ทำให้พรรคการเมืองรณรงค์แบบไม่เผชิญหน้ากัน[10]:61 มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก่อกวนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์[10]:61 มีรายงานการซื้อเสียงและการปฏิบัติโดยมิชอบอย่างกว้างขวาง แต่ข้าราชการไม่สนใจสอบสวน[10]:75

บรรยากาศป้ายหาเสียงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทางการเลือกปฏิบัติโดยเข้าข้างพรรคที่สนับสนุน คสช. พลเอกประยุทธ์เดินทางไปทั่วประเทศและมีการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรตลอดปี 2560 และ 2561 ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเป็นการรณรงค์เลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อนกำหนด อีกทั้งมีการจัดการชุมนุมการเมืองก่อนยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมการเมืองของ คสช.[10]:59,61 มีโครงการสวัสดิการของรัฐหลายโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงรณรงค์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณ[10]:76 การละเมิดทรัพยากรของรัฐในรูปการผูกโครงการสวัสดิการของรัฐและการรณรงค์เลือกตั้งเป็นไปโดยกว้างขวาง โดยมีการตั้งชื่อพรรคการเมือง "พลังประชารัฐ" ให้คล้ายกับโครงการของรัฐ[10]:77 วันที่ 20 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 37,900 ล้านบาทเข้ากองทุนประชารัฐ และกระทรวงการคลังจ่ายเงินค่าป่วยการแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 1 ล้านคน เป็นเงิน 1.8 พันล้านบาท และจ่ายเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา วงเงิน 2,922 ล้านบาท รวมตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2561 เป็นต้นมา รัฐบาลประยุทธ์อนุมัติงบประมาณอัดฉีดกว่า 80,000 ล้านบาท[61] รวมผู้ได้รับประโยชน์จากกองทุนเป็น 14 ล้านคน[10]:77 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบถือฝ่าย เช่น แนะให้ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยไปฟังเพลง "หนักแผ่นดิน" และสั่งให้กองทัพบกเปิดเพลงดังกล่าวทางสถานีวิทยุกองทัพบก แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว[62]

พรรคเพื่อไทยชูแนวนโยบายเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ส่งเสริมธุรกิจเอกชน กระตุ้นการท่องเที่ยว ขยายสาธารณสุขภาครัฐ เลิกการเกณฑ์ทหาร และลดรายจ่ายกลาโหม[63] พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้คำมั่นขยายโครงการสวัสดิการ[63] พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายนิยมตลาดเสรี นิยมเจ้า ประกันราคาพืชผลเกษตร บริการฉุกเฉินโรงพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่ายและประกันรายได้ขั้นต่ำภาครัฐ[63] พรรคอนาคตใหม่มีนโยบายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีนโยบายเสรีนิยมที่เน้นความโปร่งใสของรัฐบาล การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสิทธิกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ลดรายจ่ายกลาโหมนำมาขยายสวัสดิการสังคมและสาธารณสุข[63] พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายกัญชาถูกกฎหมาย เวลาทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ การตั้งสถานที่ทำงานร่วมกัน (co-working space)[63] พรรคชาติพัฒนามีนโยบายสร้างสนามกีฬา แหล่งพลังงานทางเลือก กำจัดหมอกควันและช่วยเหลือผู้พิการ[63] พรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบายกระจายอำนาจ และการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการศึกษา[63] พรรคเพื่อชาติมีนโยบายปรับปรุงสาธารณสุขต่างจังหวัด การขนส่งในเมือง และลดภาษีการขนส่งการเกษตร[63] พรรคประชาชาติมีแนวนโยบายการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนา การหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และปราบปรามยาเสพติด[63] พรรคเสรีรวมไทยมีนโยบายลดขนาดกองทัพและย้ายหน่วยงานทหารออกนอกกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจต่างจังหวัด[63] ต้นเดือนมีนาคม 2562 พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ส่วนพรรคพลังประชารัฐเสนอเป็นวันละ 425 บาท ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายประชานิยม ทำไม่ได้จริง หรือทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน[64] การสำรวจพรรคการเมืองของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIDH) พบว่าส่วนใหญ่ไม่เต็มใจผูกมัดแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน เพิ่มเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และจำกัดบทบาทของกองทัพ[65]

หลังพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบในเดือนมีนาคม 2562 ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักษาชาติหลายคนกลับไปเข้ากับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมีความพยายามถ่ายคะแนนไปยังพรรคเสรีรวมไทยและพรรคประชาชาติ[66] อดีตสมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติไปเข้ากับพรรคเพื่อชาติ มีอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้ง 1 คนไปเข้ากับพรรคภูมิใจไทย[66] และยังมียุทธวิธีการรณรงค์ไม่ประสงค์ลงคะแนน แต่กรรมการการเลือกตั้งมองว่าเป็นลักษณะที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม เพราะ "มีวัตถุประสงค์ให้มีคะแนนโหวตโนมากกว่าคะแนนผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการเลือกตั้ง"[66] อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่เป้าหมายเทคะแนนของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ[66] แม้มีข่าวฐิติมา ฉายแสง อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้ง เชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตตนเลือกผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่แทน[67] ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจปฏิเสธว่าโทรศัพท์คุยกับอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติเพื่อขอคะแนนเสียง[68]

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830478 http://www.bbc.com/news/business-30218621 http://www.bbc.com/thai/thailand-43221557 http://www.ft.com/intl/cms/s/0/a01892a6-fe33-11e4-... http://www.khaosodenglish.com/politics/2018/11/30/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/18/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/02/27/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/26/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/03/28/... http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/04/02/...